ในหลายๆ ประเทศ การใช้งานที่มีลิขสิทธิ์คุ้มครองบางวิธีไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ ตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา สิทธิ์ในลิขสิทธิ์จำกัดอยู่ในหลัก "การใช้ที่เป็นธรรม" โดยการใช้งานเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์บางวิธีซึ่งไม่จำกัดเพียงการวิจารณ์ สารคดี การรายงานข่าว การสอน ทุนการศึกษา หรือการวิจัย ถือว่าเป็นการใช้ที่เป็นธรรม ผู้พิพากษาของสหรัฐอเมริกาจะเป็นผู้กำหนดว่าการกล่าวอ้างการใช้ที่เป็นธรรมหนึ่งๆ ถูกต้องไหมตามปัจจัยต่างๆ 4 ประการ ซึ่งเราได้ระบุไว้ด้านล่างสำหรับวัตถุประสงค์ด้านการศึกษา ในประเทศอื่นๆ บางประเทศมีแนวคิดที่คล้ายกันซึ่งเรียกว่า "การทำข้อตกลงที่เป็นธรรม" ซึ่งอาจมีการบังคับใช้ต่างกันไป
อย่าลืมว่าคุณมีหน้าที่ทำความเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องและรับทราบว่ากฎหมายดังกล่าวป้องกันการใช้งานที่คุณคิดไหม หากมีแผนที่จะใช้เนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์ซึ่งคุณไม่ได้เป็นเจ้าของ เราขอแนะนำให้คุณขอคำปรึกษาด้านกฎหมายก่อน Google ไม่สามารถมอบคำแนะนำด้านกฎหมายหรือดำเนินการตัดสินทางกฎหมายใดๆ
ปัจจัย 4 ประการของการใช้ที่เป็นธรรมมีดังนี้
1. วัตถุประสงค์และลักษณะการใช้งาน ซึ่งรวมถึงการคำนึงว่าเป็นการใช้ในเชิงพาณิชย์หรือมีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาแบบไม่แสวงหากำไร
โดยปกติแล้วศาลจะมุ่งเน้นพิจารณาว่าการใช้มีการ “เปลี่ยนแปลง” ไหม กล่าวคือเมื่อใช้งานแล้วมีการเพิ่มการแสดงออกหรือความหมายให้กับงานเดิม หรือเป็นการคัดลอกงานเดิมเท่านั้น
2. ลักษณะของงานที่มีลิขสิทธิ์
การใช้เนื้อหาจากงานที่เป็นข้อเท็จจริงเป็นหลักมีแนวโน้มว่าเป็นการใช้ที่เป็นธรรมกว่าการใช้งานที่แต่งขึ้นทั้งหมด
3. ปริมาณและสัดส่วนที่ถูกนำไปใช้เมื่อเทียบกับงานที่มีลิขสิทธิ์ทั้งหมด และ
การหยิบยืมเนื้อหาเพียงเล็กน้อยจากงานเดิมมีแนวโน้มที่จะจัดเป็นการใช้ที่เป็นธรรมมากกว่าการหยิบยืมเป็นปริมาณมาก อย่างไรก็ตาม การนำงานเดิมมาใช้แม้เพียงส่วนเล็กๆ อาจไม่ถือว่าเป็นการใช้ที่เป็นธรรมหากส่วนที่นำมาใช้เป็น “หัวใจหลัก” ของงาน
4. ผลกระทบของการใช้นั้นๆ ต่อตลาดในอนาคตหรือมูลค่าของงานที่มีลิขสิทธิ์
การใช้ที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการสร้างรายได้ของเจ้าของลิขสิทธิ์จากงานเดิมของตนเองโดยมาแย่งความต้องการในงานดังกล่าวไป มีแนวโน้มว่าจะไม่ใช่การใช้ที่เป็นธรรม